มิวเทชัน (mutation)
มิวเทชัน (Mutation)
แบบฝึกหัดก่อนเรียน : https://docs.google.com/forms/d/1s_rs4uPqRjUa7cm_mbAX14SPxnfuaWzxmGuqn6CHQag/edit?usp=sharing_eip&ts=5d668879
มิวเทชัน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิต ทำให้มีลักษณะแตกต่างไปจากเดิม บางกรณีมีผลต่อการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม ทำให้สิ่งมีชีวิตรุ่นต่อๆ มามีลักษณะเปลี่ยนไป และอาจทำให้เกิดชนิดพันธุ์ใหม่ขึ้นได้
มิวเทชัน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิต ทำให้มีลักษณะแตกต่างไปจากเดิม บางกรณีมีผลต่อการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม ทำให้สิ่งมีชีวิตรุ่นต่อๆ มามีลักษณะเปลี่ยนไป และอาจทำให้เกิดชนิดพันธุ์ใหม่ขึ้นได้
ที่มา: เครย์บรอน์, แอนนา, 2551: 22
มิวเทชันเกิดขึ้นได้ 2 แห่งในร่างกาย คือ
1. มิวเทชันที่เกิดกับเซลล์ร่างกาย ไม่สามารถถ่ายทอดลักษณะที่เกิดขึ้นนี้สู่รุ่นต่อๆ ไปได้ เช่น มะเร็ง เนื้องอก
2. มิวเทชันที่เกิดกับเซลล์สืบพันธุ์ สามารถถ่ายทอดลักษณะที่เกิดขึ้นนี้สู่รุ่นต่อๆ ไปได้ เช่น ตาบอดสี ทาลัสซีเมีย
สาเหตุที่ทำให้เกิดมิวเทชัน
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมิวเทชัน มี 2 ข้อ คือ
1.การเปลี่ยนแปลงของโครโมโซม
2.การเปลี่ยนแปลงของยีน
1. การเปลี่ยนแปลงของโครโมโซม
การเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้ยีนบนโครโมโซมนั้นเปลี่ยนแปลงไปด้วย เป็นผลให้การสังเคราะห์กรดอะมิโนและโปรตีนในร่างกายผิดปกติ แบ่งออกได้เป็น 2 สาเหตุ คือ
ก. การเปลี่ยนแปลงจำนวนโครโมโซม เกิดจากการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของจำนวนโครโมโซมจากจำนวนปกติเดิม เป็นผลให้ลักษณะทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตนั้นเปลี่ยนไป แบ่งได้ 2 ลักษณะ ดังนี้
แอนยูพลอยดี (Aneuploidy) คือ การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของจำนวนโครโมโซมเป็นบางจำนวน ในรูปของ 2n ± 1 หรือ n ± 2 พบว่า ส่วนมากเกิดขึ้นกับสัตว์และมักจะเป็นลักษณะด้อย ซึ่งเป็นผลเสีย เช่น ทำให้เป็นหมัน หรือเซลล์สืบพันธุ์ทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดโรคทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์ ที่มีโครโมโซม X เพิ่มขึ้น 1 แท่ง หรือกลุ่มอาการดาวน์ ที่มีโครโมโซมร่างกายคู่ที่ 21 เพิ่มขึ้น 1 แท่ง เป็นต้น
รูปที่ 1.50 คาริโอไทป์กลุ่มอาการดาวน์
ที่มา: www.tlcthai.com/webboard/
ยูพลอยดี (Euploidy) คือ การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของจำนวนโครโมโซมเป็นชุด อาจจะเป็น 2n ± n หรือ 2n ± 2n ทำให้มีจำนวนโครโมโซมเป็นแบบ
พอลิพลอยดี (Polyploidy) ในธรรมชาติพบว่า มักจะเกิดขึ้นกับพืช ซึ่งการเกิดยูพลอยดีในพืชนี้จะทำให้ส่วนประกอบบางอย่างมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เช่น ดอก ผล หรือเพิ่มปริมาณการสร้างสารบางอย่างมากขึ้น เช่น ข้าวโพดที่มีจำนวนโครโมโซม 4n จะมีปริมาณวิตามินต่างๆ มากขึ้น
และพบว่า พืชที่เพิ่มจำนวนโครโมโซมเป็นแบบเลขคู่ เช่น 4n 6n 8n จะสามารถถ่ายทอดลักษณะเหล่านี้สู่รุ่นต่อๆ ไปได้ด้วย แต่การเพิ่มจำนวนโครโมโซมเป็นแบบเลขคี่ เช่น 3n 5n 7n จะไม่สามารถถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมสู่รุ่นต่อไปได้ หรือจะเป็นหมัน เราจึงมักจะใช้วิธีเพิ่มจำนวนโครโมโซมแบบเลขคี่เพื่อปรับปรุงพันธุ์ให้ได้พืชที่ไร้เมล็ด เช่น กล้วยหอม เชอรี่ องุ่น แตงโม
รูปที่ 1.51 การเกิดยูพลอยดีในพืช: องุ่นไร้เมล็ด
ที่มา: Hot 5 CD photo & clipart
ส่วนการเกิดยูพลอยดีในสัตว์นั้นเกิดขึ้นได้น้อยกว่าพืช และถ้าเกิดขึ้นกับคนมักจะเป็นการเพิ่มจำนวนโครโมโซมเป็นบางแท่ง มิใช่ทั้งชุด และมักจะเป็นผลเสีย เช่น เกิดความพิการทางสมองหรือทางกาย และอายุมักจะสั้น ถ้าเกิดยูพลอยดีที่เป็นการเพิ่มจำนวนโครโมโซมแบบพอลิพลอยดี ขึ้นในสัตว์ จะทำให้ตัวอ่อนพิการและตายตั้งแต่อยู่ในท้องแม่
ข. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของโครโมโซม เกิดจากสาเหตุต่างๆ ได้แก่ การเปลี่ยนตำแหน่งของยีนในโครโมโซมแท่งเดียวกัน หรือโครโมโซมคู่ที่ไม่เหมือนกันเกิดการสลับที่กันเป็นบางส่วน หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของโครโมโซมเพิ่มขึ้นหรือขาดหายไป เช่น กลุ่มอาการคริดูชาต์ ที่เกิดจากโครโมโซมคู่ที่ 5 แท่งหนึ่งมีบางส่วนขาดหายไป เป็นต้น
รูปที่ 1.52 สาเหตุการเปลี่ยนแปลงของโครโมโซมแบบต่างๆ
ที่มา: www.maceducation.com/e-knowledge/
2. การเปลี่ยนแปลงของยีน
การเปลี่ยนแปลงของยีนที่เกิดขึ้นส่วนมากเกิดจากการเปลี่ยนลำดับคู่เบสที่เป็นรหัสยีน หรือเกิดจากการเพิ่มขึ้นหรือการลดลงของนิวคลีโอไทด์ ในสายพอลินิวคลีโอไทด์ของดีเอ็นเอ เป็นผลให้การถอดรหัสของอาร์เอ็นเอ เพื่อนำไปสังเคราะห์กรดอะมิโนและโปรตีนผิดปกติไป โดยอาจจะได้โปรตีนที่มีสมบัติเปลี่ยนไปจากเดิม หรือไม่สามารถทำงานได้ดังเดิม ทำให้ฟีโนไทป์ที่ปรากฏเปลี่ยนไป
รูปที่ 1.53 มิวเทชันที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของยีน
ที่มา: www.il.mahidol.ac.th/e-media/150charles-darwin/
ปัจจัยที่ทำให้เกิดมิวเทชัน
อัตราการเกิดมิวเทชันในธรรมชาติค่อนข้างต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการเกิดมิวเทชันจากการชักนำโดยสิ่งต่างๆ ที่ส่วนมากคนเราเป็นผู้ทำขึ้น ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดมิวเทชันจะเรียกว่า สิ่งก่อการกลาย หรือ มิวทาเจน (Mutagen) ได้แก่
1. รังสี
ทำให้เกิดมิวเทชันได้ค่อนข้างเร็ว แต่ต้องมีปริมาณที่ไม่สูงเกินไป เพราะถ้ามีปริมาณสูงเกินจะทำให้สิ่งมีชีวิตนั้นตายได้ รังสีเหล่านี้แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
ก. รังสีที่ก่อให้เกิดไอออน เป็นรังสีที่มีอำนาจในการทะลุผ่านสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะเนื้อเยื่อได้ค่อนข้างสูง ทำให้โครโมโซมในเซลล์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย เช่น รังสีเอกซ์ แกมมา บีตา
ข. รังสีที่ไม่ก่อให้เกิดไอออน รังสีกลุ่มนี้มีอำนาจในการทะลุผ่านเนื้อเยื่อได้น้อย จึงทำให้เกิดมิวเทชันได้ช้ากว่า เช่น อัลตราไวโอเลต
รูปที่ 1.54 มิวเทชันหรือการกลายทำให้เกิดมะเร็ง
ที่มา: เครย์บรอน์, แอนนา, 2551: 23
2. สารเคมี
สารเคมีที่เป็นสาเหตุของมิวเทชันส่วนมากจะมีโครงสร้างคล้ายเบสในดีเอ็นเอ หรือมีสมบัติทำให้โครงสร้างของเบสในดีเอ็นเอเปลี่ยนไปได้ หรือทำให้จำนวนนิวคลีโอไทด์ในสายของพอลินิวคลีโอไทด์ของดีเอ็นเอเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ตัวอย่างเช่น ไฮดรอกซีลามิน สารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ สารฆ่าวัชพืช อะฟลาทอกซิน โคลชิซิน (Colchicine) ที่ใช้เพิ่มจำนวนชุดของโครโมโซมในพืช สำหรับมิวทาเจนที่ทำให้เกิดมะเร็งจะเรียกว่า สารก่อมะเร็ง (Carcinogen)
การเกิดมิวเทชันทั้งในระดับยีนและโครโมโซมเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ลักษณะทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตแตกต่างกันออกไป ถ้าลักษณะที่เปลี่ยนไปนั้นไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ก็จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ หรือถ้าอยู่รอดได้แต่ก็จะไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ แต่ถ้าลักษณะที่เปลี่ยนไปนั้นเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและทำให้สิ่งมีชีวิตนั้นมีชีวิตอยู่รอดได้ จะเป็นหนทางที่นำไปสู่การเกิดวิวัฒนาการของ
สิ่งมีชีวิตนั้นๆ และกลายเป็นสปีชีส์ใหม่ในที่สุด
แบบฝึกหัดหลังเรียน : https://docs.google.com/forms/d/1s_rs4uPqRjUa7cm_mbAX14SPxnfuaWzxmGuqn6CHQag/edit?usp=sharing_eip&ts=5d668879
ขอขอบคุณอาจารย์ที่ปรึกษา คุณครูธีระวัฒน์ ปานทอง
และข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซส์ วิทยาศาสตร์โดย T.Rungnapa
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น